ขึ้นธาตุเดือน 9

20150331_3_1427787433_293657

03791

ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า

     งานบุญขึ้นธาตุเดือนเก้า จัดขึ้นเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเก้า ชาวเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนเจ็ดของภาคกลาง ประมาณเดือนมิถุนายน แต่บางปี อาจคาบเกี่ยวขึ้นมาถึงเดือนพฤษภาคม  วัดพระบรมธาตุ อันเป็นสถานที่สืบสานประเพณีนี้มาแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

     ก่อนถึงวันขึ้น 14 ค่ำ ของเดือนเก้า  “ชาวบ้านศรัทธาวัด ในอำเภอบ้าตาก และอำเภอใกล้เคียงจะเริ่มเตรียมงานกันไว้ล่วงหน้า ด้วยการจัดทำ บะไฟ หรือ บั้งไฟ โดยเตรียมตัดไม้ไผ่ลำยาวโต เผาถ่านผสมกับดินประสิว นำมาตอกดัลงในท่อสังกะสี หรือท่อเหล็กตามที่ทางวัดกำหนดความยาวให้ ตอกอัดให้แน่น ตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ ให้สวยงาม เพื่อนำไปจุดแข่งขันกันในวันงาน

ระหว่างนี้ พวกร่างทรงของเทพและวิญญารต่าง ๆ  รวมทั้งชาวบ้านที่นับถือ จะเตรียมองค์ผ้าป่า  เงินทอง  ดอกไม้ธูปเทียน  เครื่องบริขารไทยธรรมต่าง ๆ  โดยจัดเป็นผ้าป่าสามัคคีเป็นกลุ่มตามเทพตามที่ตนนับถือ

เข้าวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านกลุ่มศรัทธาเทพนับถือผี จะช่วยกันตกแต่ง เงินผ้าป่าและปัจจัยไทยธรรมบริขารเครื่องผ้าป่าที่มีผู้ศรัทธาบริจาค ด้วยกระดาษสี และตุงไชย (ธงชัย) หลากสีสัน แล้วแห่กันไปเป็นหมู่คณะ เป็นกลุ่มเป็นขบวน ตามเจ้าใครผีใคร

ส่วนชาวบ้านกลุ่มศรัทธาวัดประจำหมู่บ้านต่าง ๆ  จะตกแต่งต้นเงินผ้าป่า เช่นเดียวกับกลุ่มศรัทธาผี  แต่กลุ่มนี้จะมีขบวนบั้งไฟที่จัดทำไว้ล่วงหน้าประกอบด้วย ตกแต่งบั้งไฟด้วยกระดาษสีสดใส ประดับด้วยไม้สวยงาม มีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ประโคมแห่ไปตลอดทาง

ขบวนของชาวบ้านทั้งสองกลุ่มหลายสิบขบวน จะแห่แหนตรงไปยัง วัดพระบรมธาตุ และไปไหว้ศาลหลักเมืองและองค์ประปรางค์เจดีย์ยุทธหัตถี แล้วไปกราบร่างทรงของเจ้าพ่อขุนทะเล และเจ้าพ่อดงดำ สองเทพที่หอผี หน้าวัดพระบรมธาตุด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีศาลาวางต้นเงินผ้าป่า และเครื่องไทยธรรมของชาวบ้านที่มาร่วมทอดผ้าป่าวางเรียงรายรวมอยู่ด้วย                                                                                                                                                                                                                         เมื่อขบวนต่าง ๆ  แห่มาพร้อมกันถึงลานปูน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานวัวปูนปั้น อันเป็นพาหนะ ของเจ้าพ่อขุนทะเลแล้ว ผู้รู้ผู้เป็นเจ้าพิธี จะกราบไหว้ผีเจ้าทาง แล้วทำพิธี “ขึ้นท้าวทั้งสี่” คือ บูชา อัญเชิญท้าวจตุโลกบาลเทพผู้ดูแลรักษาโลกทั้งสี่ทิศ  สี่องค์ มารับเครื่องสังเวย บอกกล่าวขอความคุ้มครอง และขออนุญาตจัดงาน

จากนั้น เป็นพิธีทรงเจ้าเข้าผี ร่างทรงต่าง ๆ  ซึ่งเทพ ประทับทรงแล้ว ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เทพตือมา” จำนวนประมาณ 20-30 คน ทั้งหญิง ชาย แต่งกายต่าง ๆ กันตามที่เทพหรือผีที่ประทับทรงมานั้น โปรดปราน จะพากันมาพบปะกันบริเวณหอผี บ้างก็ฟ้อนรำบวงสรวง บ้างก็รำไทย บ้างก็รำดาบ หรือร่ายมวย และบ้างก็ขึ้น ไปฟ้องรำอยู่บนหลังวัวเจ้าพ่อขุนทะเล องค์ไหนชอบสุรา ก็สังเวยด้วยสุรา ส่งภาษาเทพ สนทนากันอย่างสนุกสนาน วันอันเป็นมงคลนี้ถือเสมือนว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ แห่งเทพทั้งปวงด้วย

ตกบ่ายได้เวลาอันสมควร ขบวนทั้งหมดจะนำต้นเงิน ผ้าป่าและบั้งไฟ ไปแห่เวียนทักษิณาวัตรอบองค์พระธาตุ  แล้วนำไปถวายพระสงฆ์ขออนุโมทนา แผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศล อุทิศให้เทพเบื้องบน และมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย เวลากลางคืน มีมหรสพต่าง ๆ  เช่น ลิเก ภาพยนตร์ สมโภชน์งาน

วันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ เดือนเก้า เวลาประมาณ 8.00 น. ก็ถึงกำหนดการสำคัญอันเป็นจุดมุ่งหมายของงาน นั่นคือ “ขึ้นพระธาตุเดือนเก้า”  ด้วยการแข่งขันกันจุดบั้งไฟ เสมือนหนึ่งจะให้บั้งไฟที่พุ่งไป นำเอาศรัทธาทั้งมวล ของพวกเขาขึ้นไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้า และปวงเทพยดาบนสรวงสวรรค์ ท่ามกลางกองเชียร์และการเชียร์ของกลุ่มศรัทธาวัดต่าง ๆ

เมื่อบั้งไฟทุกบั้งระเบิดทะยานผ่านฟ้าไปแล้ว เทพทุกเพท ผีทุกผี ก็คืนสู่วิถีชีวิตของคนธรรมดา แยกย้ายกันกลับบ้านของตน